เพลงรัตติกาลในอินเดีย
(Notturno indiano)
อันตอนีโอ ตาบุคคี (Antonio Tabucchi)  เขียน
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ  แปล
มีนาภา โมไนยพงศ์  บรรณาธิการจัดการ
อภิรดา มีเดช  ตรวจทาน
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย  รูปเล่ม
antizeptic  ออกแบบปก
ISBN: 978-616-92759-0-9
พิมพ์ครั้งที่ 2 : พฤศจิกายน 2559
144 หน้า ราคา 180 บาท

   

 

“โปรดเล่าเนื้อหาของหนังสือคุณให้ฉันฟัง ฉันอยากรู้สารัตถะของมัน”
“ในหนังสือเรื่องนี้ ผมจะเป็นคนที่หลงทางในอินเดีย นี่คือสารัตถะของมัน”

นวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางในอินเดียของชายชาวตะวันตกผู้หนึ่ง ซึ่งไปตามหาเพื่อนเก่าที่หายตัวไป ร่องรอยอันเลือนรางของเพื่อนซึ่งเขาได้จากโสเภณีนางหนึ่งนำเขาไปสัมผัสกับความลึกลับและมนต์ปริศนาที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกอณูของอินเดีย

Reviews

เรื่องดำเนินไปแบบเป็นเสี้ยวๆ เป็นชิ้นส่วนของความไม่รู้ที่กอปรขึ้นเป็นเรื่องราวขนาดสั้น และนี่เป็นเสน่ห์ของนวนิยายเล่มนี้ คนอ่านติดตามชายคนนี้ไปอย่างใกล้ชิด บางทีเราก็รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ บางทีเราก็ไม่รู้ เราตกอยู่ในความคลุมเครืออันแสนหฤหรรษ์ และในตอนจบยิ่งนำความตื่นเต้นมาสู่คนอ่าน เมื่อเราพบว่าคนเขียนเปิดเผยความคิดบางด้านของเขาที่มีต่อนวนิยายเรื่องนี้ เป็นตอนจบของนวนิยายที่เร้าใจมาก …อ่านต่อ
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง


หนังสือเล็ก ๆ เล่มนี้สามารถพลิกจบได้ภายในสามชั่วโมง ตามมาตรฐานของคนอ่านช้า (ผมนี่แหละ) แต่เชื่อว่ามันอาจจะค้างคาอยู่ในใจไปจนอัลไซเมอร์รับประทาน เทียบกับเล่มก่อนหน้า เปเรย์รามีลักษณะเป็นแบบฉบับ ขณะที่เพลงรัตติกาลผาดโผน ผลักดันคนอ่านด้วยคำถามและความสงสัย มันตามหาใคร ตามหาทำไม เพื่อนกันมั้ย แรงจูงใจอะไร สุดท้ายจะจบลงแบบไหน Tabucchi จงใจให้รายละเอียดของเรื่องเล่าน้อยนิดและดูเหมือนไม่ปะติดปะต่อ ประหนึ่งกลั่นแกล้งคนอ่าน ตรงนี้หากไร้ฝีมือ คนเขาจะเลิกอ่านเอานะครับ แต่เมื่ออ่านจนถึงตอนสุดท้าย และมองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าแต่ละตอนร่ายรำอยู่รอบ ๆ แก่นซึ่งฝังแน่นอย่างมั่นคงเพียงแก่นเดียว เมื่อประกอบกับลีลาหลอกล่อชั้นเลิศ ตั้งแต่บทที่ 1 จนถึง 11 จึงสามารถพาคุณก้าวข้ามความไม่รู้ มาสู่ 12 อันเป็นตอนที่ตัวละครอาจตามกันจนเจอแต่ไม่อยากเจอ พร้อม ๆ กับที่คุณเจอ (โดยอาจไม่รู้ว่า 11 บทที่ผ่านมา คุณได้มองหา) แก่นเพียงหนึ่งเดียวซึ่งไม่เคยหลบซ่อนตัว ณ ที่ใดเลย ผมคิดว่าความไม่รู้นั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ Tabucchi หยิบเอามาเล่นกับเราครับ ผมให้ ★★★★★
ศล


ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศในอินเดียที่ผู้เขียนบรรยาย, ตัวเอกกำลังตามหาใคร, มีความสัมพันธ์อย่างไรกันแน่, คนแปลกหน้ามากมายที่ได้พบเจอและบทสนทนาระหว่างทาง ทุกรายละเอียดเต็มไปด้วยความลึกลับ แต่การดำเนินเรื่องที่ล่องลอยถูกขมวดให้เป็นบทสรุปที่หนักแน่นได้อย่างน่าทึ่ง
เป็นงานเรื่องที่ 2 ของตาบุคคีที่ได้อ่านต่อจาก “หัวที่หายไปฯ” แม้เรื่องแรกไม่ได้โดนใจมากมายแต่ก็ยังชอบในส่วนชั้นเชิงการเล่า ส่วนเรื่องนี้เรียกว่าโดนเล่นงานอยู่หมัด ทำให้อยากหาผลงานอื่นๆ ของเขามาอ่านอีก
Peerawat


น่าสังเกตว่า ถ้าไม่ใช่ด้วยฝีไม้ลายมือระดับนี้ อ่านไปจะหลับเอาง่ายๆ แต่เสน่ห์ของความเงียบ ความมืด และหมอกสลัว นั้นตรึงสมาธิเราไว้ได้จนจบเล่ม …อ่านต่อ
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย


เหมือนจะมีเส้นเรื่อง แต่ไม่ยักจะสนใจเส้นเรื่อง ก่อนจะตบเราอีกทีในตอนท้าย อ้าว นี่กูโดนหลอกหรือนี่ แล้วที่เล่ามาเนี่ย เสียงของใครกันแน่ /ขออ่านใหม่อีกครั้งค่ะ
Wannida


มีความหว่อง Noir และ Surreal ในเล่มเดียวกัน
หนังสือดำเนินเรื่องเชิงกึ่งบันทึกท่องเที่ยว สถานที่ต่างๆ มีอยู่จริง บรรยากาศเป็นจริงดังบรรยายบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เราอาจเห็นเป็นตอนตัดที่ผู้เขียนจงใจบรรยายแบบตัดตอนเพื่อเพิ่มความกึ่งจริงกึ่งใฝันของหนังสือ
แม้กระทั่งจบเล่ม เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า สิ่งที่ตัวเอกหาอยู่นั้นเป็นความฝัน จินตภาพหรือความจริง
Tharin Phenwan